วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

Bend Test Acceptance Criteria for Welding Procedure Qualification per ASME IX;
ในการทดสอบคุณสมบัติของขั้นตอนการเชื่อม หรือที่เรามักเรียกว่าการ Qualify Weld Procedure นั้นจะต้องมีการนำชิ้นงานเชื่อมไปทดสอบคุณสมบัติทางกล (Mechanical Properties) ด้วยเสมอ โดยวิธีการทดสอบตามมาตรฐาน  ASME BPVC Section IX หลักๆ จะใช้เป็น Tension Test ทดสอบความแข็งแรง (Strength) ของแนวเชื่อม, Bend Test เพื่อดูความสมบูรณ์ (soundness) ของแนวเชื่อม, และ Impact Test ดูความเหนียวหรือความแกร่ง (Toughness) ที่อุณหภูมิต่ำ (ติดลบ)

Bend Test คือการนำแนวเชื่อมมาดัดโค้ง แล้วดูว่าผิวด้านนอกของแนวเชื่อมตรงบริเวณที่ดัดโค้ง ซึ่งจะเป็นบริเวณที่รับแรงดึงระหว่างการดัดมีรอยแตกหรือ Defect จากกระบวนการเชื่อมเกิดขึ้นหรือไม่

ตาม ASME Section IX นั้นชิ้นงานทดสอบ Bend Test จะต้องไม่มี Open Defect ขนาดเกิน 3 mm. จึงจะถือว่าแนวเชื่อมนั้นสมบูรณ์และผ่าน Acceptance Criteria ยกเว้นในกรณีที่มีรอยแตกเกิดขึ้นที่ขอบของชิ้นงาน (Corner) ซึ่งเป็นบริเวณที่ได้รับ Stress สูง เนื่องจากมีการเปลี่ยนรูปร่าง (Discontinuity) จะไม่ถือว่าเป็น Defect ถ้าหากรอยแตกนั้นไม่ได้บ่งว่าเกิดจากปัญหาในงานเชื่อม เช่น lack of fusion หรือ slag inclusion

ในรูปเป็นตัวอย่างของชิ้นงาน Bend Test และการบันทึกผลใน Welding Procedure Qualification Record (PQR) ลองไปเปิด PQR ในงานที่ผ่านมากันดูครับ ว่ามีการบันทึกผล Bend Test ไว้ยังไงกันบ้าง

วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

Vacuum Box Test  - API 650 Storage Tank Bottom Inspection (2);
ต่อจากครั้งที่แล้วที่พูดถึงหลักการตรวจสอบรอยรั่วที่แนวเชื่อมของ Tank Bottom ด้วย Vacuum Box Test วันนี้จะขอพูดถึงขั้นตอนและข้อกำหนดในการทำ Vacuum Box Test ตาม API 650 นะครับ

ใน API 650 ได้กำหนด Requirement สำหรับการทำ Vacuum Box Test ดังนี้ครับ
1) อุณหภูมิของผิวที่จะทำการทดสอบต้องอยู่ระหว่าง 4 – 52 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้น้ำสบู่ระเหยหรือหนืดเกินไป
2) ชโลมน้ำสบู่ให้ทั่วพื้นที่ต้องการตรวจสอบ โดยน้ำสบู่ต้องเข้มข้นพอที่จะสามารถทำให้เกิด Bubble ได้ครับ
3) Vacuum pressure หรือ Negative pressure ที่ใช้ต้องอยู่ระหว่าง 21 – 35 kPa (0.21 – 0.35 bar)
4) ในการตรวจสอบให้วาง Vacuum Box ซ้อนทับ (Overlap)  กับครั้งก่อนหน้าเป็นระยะอย่างน้อย 50 mm (2 in.)
5) การตรวจสอบแต่ละจุดต้องค้าง (Hold) Vacuum pressure อย่างน้อย 5 วินาที

จะเห็นได้ว่าขั้นตอนเหล่านี้นั้นทำให้การตรวจสอบรอยรั่วของ Tank Bottom เป็นไปอย่างได้ผล (Effective) ดังนั้นในการทำ Vacuum Box Test ทุกครั้ง ก็อย่าลืมทำตาม Requirement ของ API กันนะครับ

by Mo Thanachai





วันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

Vacuum Box Test  - API 650 Storage Tank Bottom Inspection (1);
Vacuum Box Test เป็นวิธีการตรวจสอบรอยรั่ว (leak) ของพื้นถัง (Tank Bottom) โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อหรือแนวเชื่อมระหว่าง Bottom plate และแนวเชื่อม Corner ระหว่าง Bottom กับ Shell (Shell –to-bottom welded joint) โดยวิธีการคือให้ชโลมพื้นผิวที่ต้องการทดสอบด้วย Soap solution จากนั้นใช้ Vacuum box ในการดูดอากาศ ซึ่งถ้าหาก Tank Bottom มีรอยรั่ว อากาศก็จะถูกดูดผ่านรอยรั่วนั้นและทำให้เกิดเป็น Bubbles ขึ้น

วิธีการนี้สร้างสุญญากาศ (Negative pressure) ภายใน Vacuum box ด้วยหลักการ Venturi effect โดยใช้ปั้มลม (Air compressor) เป่าอากาศผ่าน Air ejector ที่ติดอยู่กับตัว Vacuum Box ทำให้อากาศที่อยู่ใน Vacuum Box ถูกดูดออกแล้วจึงเกิดเป็นสุญญากาศ หรือจะใช้เป็น Vacuum pump ในการสร้าง Negative pressure ก็ได้

ถ้าหากบริเวณ Tank bottom มีรอยรั่ว อากาศก็จะถูกดูดจากใต้พื้นถังขึ้นมาผ่านทางรอยรั่วแล้วเกิดเป็นฟอง Bubble ขึ้นทำให้เราทราบถึงตำแหน่งที่มีรอยรั่ว ตัวอย่างในรูปเป็นรอยรั่วที่ตรวจพบตรงบริเวณแนวเชื่อม Three plate joint ซึ่งเราจะสามารถเห็นเป็น Bubbles เล็กๆ ฝุดออกมาจากบริเวณดังกล่าว เป็นการบ่งบอกว่ามีรอยรั่วเกิดขึ้น

by Mo Thanachai